เกี่ยวกับเรา

ข้อบังคับ

สมาคมกีฬายิงธนูคนพิการไทย

พุทธศักราช 2560 

-----------------------

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้ เรียกว่า “ข้อบังคับสมาคมกีฬายิงธนูคนพิการไทย พุทธศักราช 2560” 

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนสมาคมกีฬาประจำกรุงเทพมหานคร 

ข้อ 3 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความในข้อบังคับข้อใด ให้สมาคมเสนอปัญหานั้นให้ที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยและให้ถือการวินิจฉัยเป็นที่สุด 

ข้อ 4 คำจำกัดความ คำในข้อบังคับนี้หมายความว่า ดังนี้ 

       4.1 สมาคม หมายถึง สมาคมกีฬายิงธนูคนพิการไทย 

       4.2 คณะกรรมการ  หมายถึง คณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬายิงธนูคนพิการไทย 

       4.3 ยิงธนูคนพิการ หมายถึง กีฬายิงธนูคนพิการทางด้านร่างกาย การเคลื่อนไหว และวีลแชร์ 

หมวดที่  1 

ความทั่วไป 

ข้อ 5 สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมกีฬายิงธนูคนพิการไทย” ใช้อักษรย่อว่า “ธพท.” เขียนเป็นภาษาอังกฤ ว่า “ARCHERY SPORT ASSOCIATION FOR THAI DISABLED” ใช้อักษรย่อว่า“ASAD” 

ข้อ 6 เครื่องหมายของสมาคมกีฬายิงธนูคนพิการไทย เป็นรูปคนพิการถือคันธนูนั่งวีลแชร์ รูปสีแดงบนลายเส้นคล้ายเป้าธนูสีแดง ด้านบนมีชื่อสมาคมเป็นภาษาไทยว่า “สมาคมกีฬายิงธนูคนพิการไทย” ตัวอักษรสีน้ำเงิน ด้านล่างมีชื่อสมาคมเป็นภาษาอังกฤษว่า ARCHERY SPORT ASSOCIATION FOR THAI DISABLED” อยู่ในเส้นโค้งสีน้ำเงิน 

 

เครื่องหมายสมาคม

 

 

คำอธิบายเครื่องหมาย

เป็นรูปลายเส้นสัญญาลักษณ์สีแดงรูปคนพิการทางการเคลื่อนไหวด้านแขน ขา ลำตัว นั่งบนรถเข็น (Wheel-chair วีลแชร์) พื้นหลังภาพเป็นเส้นบาง 2 เส้นแทนสัญญาลักษณ์เป้ารองรับลูกธนู คนพิการจับคันธนูหันเข้าหาเป้ารองรับลูกธนู ล้อมรอบด้วยอักษรภาษาไทยสีน้ำเงินเข้ม ด้านบนว่า “สมาคมกีฬายิงธนูคนพิการไทย” อักษรภาษาอังกฤษด้านล่างว่า ARCHERY SPORT SOCIATION FOR THAI DISABLED” 

ความหมาย 

แสดงถึงความสามารถของคนพิการทางการเคลื่อนไหวในด้านกีฬายิงธนู คนพิการระดับความพิการน้อยไปถึงมากสามารถเล่นกีฬายิงธนูได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกับคนไม่พิการ โดยใช้อุปกรณ์ กฎ กติกา ที่เหมือนกัน ภายใต้คำขวัญที่ว่า “เสมอภาคและเท่าเทียม” 

ข้อ 7 สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ ณ เลขที่ 617 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

      เปิดทำการ วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. ให้คณะกรรมการสมาคมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

ข้อ 8 วัตถุประสงค์ของสมาคม

        8.1 เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลกีฬายิงธนูคนพิการและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและผู้พิการที่สนใจ 

        8.2 ส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการทางการเคลื่อนไหว ประเภทโปลิโอ  อัมพาต  แขน-ขาพิการได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการเล่นกีฬายิงธนูเพื่อออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ และเพื่อความเป็นเลิศให้ถูกกฎ ระเบียบ กติกา และมาตรฐาน 

       8.3 เป็นองค์กรกีฬายิงธนูคนพิการในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการ สมาคมและชมรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่กีฬายิงธนูคนพิการ 

       8.4 ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคี มีวินัย ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างมวลสมาชิก 

       8.5 ส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬายิงธนูระดับต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ 

       8.6 สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรมชนิดกีฬายิงธนู และช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ ตามระเบียบหรือข้อบังคับที่สมาคมกำหนด 

       8.7 ร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬายิงธนูแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนดำเนินการประสานงาน ติดต่อร่วมมือกับองค์กรต่างๆ 

       8.8 จัดการแข่งขันเพื่อพัฒนาฝีมือของนักกีฬายิงธนูคนพิการ 

       8.9 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด 

       8.10 ไม่จัดตั้งโต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด โต๊ะพนันบอล และการเล่นการพนันใดๆ ทุกชนิด 

 

หมวดที่ 2

สมาชิก

ข้อ 9 สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท ดังนี้ คือ 

       9.1 สมาชิกสามัญ เป็นชมรมกีฬาตัวแทนของจังหวัด โดยสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดให้การรับรองหน่วยงานราชการที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจ สโมสรของหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ นิติบุคคลหรือสโมสรของนิติบุคคล หรือสถาบันการศึกษา หรือคนพิการที่สนใจกีฬายิงธนู และผู้ร่วมก่อการจัดตั้ง 

       9.2  สมาชิกวิสามัญ บุคคล ชมรมกีฬา หรือสโมสรกีฬาทั่วไป ที่มีคุณสมบัตินอกเหนือจากข้อ 9.1 

       9.3  สมาชิกกิตติมศักดิ์ เป็นบุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่สมาคมซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม 

ข้อ 10 คุณสมบัติของสโมสรสมาชิกประกอบด้วย 

        10.1 มีการสอนหรือการเล่นกีฬายิงธนูเป็นประจำ 

        10.2 มีสถานที่เล่นหรือฝึกซ้อมกีฬายิงธนู 

        10.3 มีผู้ฝึกสอนรับผิดชอบในการสอน 

        10.4 มีผู้รับผิดชอบสโมสร 

        10.5 มีนักกีฬาหรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 คน 

        10.6 มีกิจกรรมเข้าร่วมการแข่งขันที่สมาคมเป็นผู้จัดการแข่งขันหรือรับรองเป็นประจำ  

ข้อ 11 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม 

       11.1 สมาชิกสามัญ จะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 200 บาท และค่าบำรุงประจำปีๆ ละ 100 บาท 

       11.2  สมาชิกวิสามัญ จะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท และค่าบำรุงประจำปีๆ ละ 50 บาท 

       11.3  สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น 

ข้อ 12 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ และให้เลขาธิการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการในคราวแรกที่มีการประชุม เพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งแก่ผู้สมัครทราบภายในสิบห้าวัน 

ข้อ 13 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงประจำปีให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งโดยไปรษณีย์ตอบรับจากเลขาธิการ และสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อย แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม ภายในกำหนดก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิกและให้เลขาธิการประกาศรายชื่อสมาชิกในเว็บไซต์ หรือช่องทางอื่น เพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน 

ข้อ 14 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับหนังสือตอบรับจากผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม โดยสมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้สิ้นสุดลงตามวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ตาย 

ข้อ 15 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้ 

       15.1 เลิกกิจการ หรือขาดคุณสมบัติตามข้อ 10 เป็นเวลา 2 ปี ขึ้นไป 

       15.2 ตาย กรณีสมาชิกเป็นบุคคล 

       15.3 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติและสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย 

       15.4 ขาดสถานภาพตามข้อ 9 และขาดคุณสมบัติตามข้อ 10 

       15.5 ไม่ชำระค่าบำรุงประจำปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งสมาคมได้มีหนังสือทวงถามแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน 

       15.6 ไม่ส่งทีม/นักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันที่สมาคมจัดขึ้นหรือรับรองเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน 

       15.7 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน เพราะสมาชิกนั้นจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบของสมาคม หรือนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม 

            มติที่ประชุมใหญ่ของสมาคมให้ลบชื่อออกจากทะเบียนหรือให้พ้นจากสมาชิกภาพ ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ สมาชิกที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียน หรือให้พ้นจากสมาชิกภาพ หากประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ให้ยื่นใบสมัครต่อเลขาธิการสมาคมได้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ถูกถอนชื่อ 

ข้อ 16 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก 

       16.1 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ 

       16.2 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้รายละ 1 คะแนนเสียง 

       16.3 สมาชิกสามัญที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิในการออกเสียงลงมติต่างๆ ยกเว้นวาระการเลือกตั้งนายกสมาคม 

       16.4 สมาชิกสามัญมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคม และร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้ 

       16.5 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่และอุปกรณ์ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด 

       16.6 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น ตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด 

       16.7 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด 

       16.8 มีหน้าที่ชำระค่าบำรุงประจำปีภายในวันที่ประชุมใหญ่สามัญของทุกปี สโมสรสมาชิกสามัญที่ไม่ชำระค่าบำรุงประจำปี มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติ 

       16.9 มีหน้าที่แจ้งการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารของสมาชิก การย้ายสถานที่ทำการ ให้สมาคมทราบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง 

       16.10 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม 

       16.11 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม 

       16.12 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น 

       16.13 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย 

หมวดที่ 3 

การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ 17 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อยเก้าคน แต่ไม่เกินสิบเก้าคน ในจำนวนนี้ให้มีกรรมการซึ่งมาจากสมาชิกสามัญของสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนคณะกรรมการสมาคมทั้งหมด 

        การเลือกตั้งนายกสมาคม ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่เลือกตั้ง โดยวิธีการเสนอชื่อโดยสมาชิกสามัญและหากมีผู้เสนอชื่อมากกว่า 1 คน ให้ลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับ การเสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกสมาคม ต้องมีสมาชิกสามัญให้การรับรองไม่น้อยกว่า 3 ราย ผู้มีสิทธิลงคะแนน คือ สมาชิกสามัญเท่านั้น และให้นายกสมาคมไปแต่งตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้ 

         17.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคม ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม 

         17.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน 

         17.3 เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม 

         17.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมเป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายบัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสาร หลักฐานต่างๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ 

         17.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคมเป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม 

         17.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก 

         17.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิก และบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย 

         17.8 กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

ข้อ 18 กรรมการของสมาคม ประกอบด้วยคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ 

       18.1 มีสัญชาติไทย 

       18.2 มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์เหมาะสมกับการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาหรือการส่งเสริมกีฬาภายในขอบวัตถุประสงค์ของสมาคม 

       18.3 ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 

       18.4 ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 

       18.5 ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 

       18.6 ไม่เคยถูกนายทะเบียนสั่งให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการสมาคมกีฬา ตามมาตรา 86(4) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เว้นแต่จะพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง 

ข้อ 19 คณะกรรมการของสมาคมมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนสมาคมกีฬาประจำกรุงเทพมหานคร และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ 

ข้อ 20 การแต่งตั้งกรรมการของสมาคมขึ้นใหม่ทั้งชุด หรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม ให้สมาคมนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนต่อนายทะเบียนสมาคมกีฬาประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้วแต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากนายทะเบียนสมาคมกีฬาประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ก็ให้คณะกรรมการชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่กรรมการต่อไป จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อย และก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเดิมและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากนายทะเบียนสมาคมกีฬาประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร 

ข้อ 21 หากตำแหน่งนายกสมาคมว่างลง ให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและให้คณะกรรมการชุดเดิม ปฏิบัติหน้าที่ต่อโดยจัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมภายใน 30 วัน 

ข้อ 22 ตำแหน่งกรรมการสมาคม ยกเว้นนายกสมาคม ว่างลงก่อนครบกำหนดวาระ ให้นายกสมาคมแต่งตั้งบุคคลหรือสมาชิกที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้ผู้ดำรงตำแหน่งแทนนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระผู้ที่ตนเข้าดำรงตำแหน่งแทน 

ข้อ 23 กรรมการอาจพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ 

        23.1 ตาย 

        23.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก 

        23.3 ขาดจากคุณสมบัติหรือสมาชิกภาพ 

        23.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้พ้นออกจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสโมสรสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม 

        23.5 ตำแหน่งนายกสมาคมว่างลง 

ข้อ 24 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ 

        24.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้ 

        24.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม 

        24.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง 

        24.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ 

        24.5 มีอำนาจลงโทษสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบของสมาคม หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการเสียหายแก่สมาคมตามความอันสมควรแก่กรณี 

        24.6  มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ 

        24.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม 

        24.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ได้ 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาที่กำหนด สมาชิกสามัญ ที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมจะเรียกประชุมเองก็ได้ 

        24.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกขอ 

        24.10 มีหน้าที่จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบและส่งรายงานการประชุมคณะกรรมการหรือกา15 วันนับแต่วันประชุม 

        24.11 มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง แจ้งบัญชีรายชื่อและจำนวนสมาชิกของสมาคม เพียงสิ้นวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ให้นายทะเบียนสมาคมกีฬาประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครทราบภายใน วันที่ 31 มกราคมของปีถัดไป หากมีการรับสมาชิกใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อและจำนวนสมาชิกให้แจ้งสมาคมกีฬาประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทราบภายใน 90 วันนับแต่วันที่รับสมาชิกใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลง 

         24.12 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับสมาคม พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

ข้อ 25 คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม 

ข้อ 26 ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่เข้าประชุมคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น 

ข้อ 27 การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด 

 หมวดที่ 4 

การประชุมใหญ่ 

ข้อ 28 การประชุมใหญ่ของสมาคม มี 2 ชนิด คือ 

        28.1 ประชุมใหญ่สามัญ 

        28.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ 

ข้อ 29 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ไม่เกินเดือนเมษายนของทุกๆ ปี 

ข้อ 30 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น 

ข้อ 31 ในกรณีคณะกรรมการ ได้รับการร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ให้เรียกประชุมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับการร้องขอ ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาที่กำหนด สมาชิกสามัญที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมจะเรียกประชุมเองก็ได้ 

ข้อ 32 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลาและสถานที่ให้ชัดเจน ไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมในเว็บไซต์หรือช่องทางอื่นเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน 

ข้อ 33 การประชุมใหญ่ประจำปี ควรมีวาระการประชุมดังต่อไปนี้ 

        33.1 ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ 

        33.2 รับรองรายงานการประชุมใหญ่ครั้งที่แล้ว 

        33.3 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี 

        33.4 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ 

        33.5 เลือกตั้งนายกสมาคมเมื่อครบกำหนดวาระ หรือตำแหน่งนายกสมาคมว่างลง 

        33.6 แต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี 

        33.7  เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี) 

ข้อ 34 ในการประชุมใหญ่สามัญ หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกพอสมควร  แต่เมื่อครบกำหนดเวลาขยายออกไปแล้ว ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไป และให้จัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายใน 14 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลัง มีสมาชิกสามัญจำนวนเท่าใดก็ได้เป็นองค์ประชุม  ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกและสมาชิกสามัญก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก 

ข้อ 35 การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด 

ข้อ 36 สมาชิกสามัญจะมอบอำนาจให้สมาชิกสามัญอื่นเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนตนก็ได้ โดยมีหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร (หนังสือมอบอำนาจให้ใช้ตามแบบหนังสือมอบอำนาจที่สมาคมนั้นเป็นผู้ออก) พร้อมแนบสำเนาบัตรผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ โดยผู้รับมอบอำนาจจะรับมอบอำนาจเกินหนึ่งแห่งไม่ได้ 

ข้อ 37 ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น 

หมวดที่  5 

การเงินและทรัพย์สิน 

ข้อ 38 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคม ถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารพาณิชย์ โดยรายรับ รายจ่ายทั้งหมดต้องผ่านบัญชีของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 39 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ให้ทำการแทนนายกสมาคมลงนามร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขาธิการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 40 ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคม ได้ครั้งละไม่เกิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ 41 ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ 42 เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการตามปีปฏิทิน บัญชีงบดุลนี้ต้องให้ผู้สอบบัญชีรับรองก่อนที่จะเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาอนุมัติภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีการบัญชี

ข้อ 43 ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 44 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 45 คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสมาคมจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

ข้อ 46  ในกรณีผู้สอบบัญชีต้องพ้นจากหน้าที่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดระหว่างการสอบบัญชียังไม่เสร็จสิ้น ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีคนใหม่เข้าทำการแทน

 หมวดที่ 6

การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 47 ข้อบังคับของสมาคมจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และสมาคมต้องนำข้อบังคับที่ได้แก้ไขหรือเพิ่มเติมไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสมาคมกีฬาประจำกรุงเทพมหานครภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ เมื่อนายทะเบียนได้จดทะเบียนแล้วให้มีผลบังคับใช้ได้

ข้อ 48  การเลิกสมาคม จะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อย

Visitors: 5,981